ผู้เขียน หัวข้อ: Radiation การฉายรังสี/ฉายแสงเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง  (อ่าน 96 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 254
    • ดูรายละเอียด
Radiation การฉายรังสี/ฉายแสงเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง

รังสีรักษาหรือการฉายรังสี/แสง (Radiation) เป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคมะเร็งที่นำรังสีเอกซเรย์ รังสีแกมมา ลำแสงอิเล็กตรอนหรือโปรตอน มาใช้เพื่อทำลายสารพันธุกรรมภายในเซลล์มะเร็งจนหยุดเจริญเติบโตและตายไปในที่สุด ทว่าการฉายรังสีอาจส่งผลต่อเซลล์ปกติที่อยู่โดยรอบ แต่เซลล์ส่วนใหญ่จะสามารถซ่อมแซมตนเองและกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติในภายหลัง

โดยทั่วไป การฉายรังสีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

    รังสีรักษาระยะไกล (External Radiation) เป็นการฉายเครื่องฉายรังสีพลังงานสูงจากแหล่งกำเนิดภายนอกร่างกายทะลุผ่านทางผิวหนังเพื่อทำลายก้อนเนื้องอกที่อยู่ภายในร่างกายผู้ป่วย
    รังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy หรือ Internal Radiation) จะใช้กับโรคมะเร็งบางชนิดเท่านั้น โดยแพทย์จะนำสารกัมมันตรังสีเข้าไปในตัวผู้ป่วยหรือใกล้บริเวณที่มีก้อนเนื้องอกในระยะเวลาไม่นานแล้วจึงนำออกมาจากบริเวณนั้น ๆ

แม้แพทย์จะยังใช้วิธีนี้อย่างต่อเนื่องและบางครั้งอาจนำมาใช้ร่วมกับวิธีรักษาอื่น ๆ แต่การฉายรังสีส่วนใหญ่ส่งผลเพียงอวัยวะบางจุดเท่านั้น จึงอาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ การฉายรังสีอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับประเภทของรังสี ปริมาณรังสีที่ได้รับ บริเวณที่โดนฉายรังสี รวมถึงสุขภาพโดยรวมของตัวผู้ป่วยเอง


การฉายรังสีมีขั้นตอนอย่างไร?

ในเบื้องต้น แพทย์จะถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ประวัติการใช้ยา รวมถึงอาการแพ้ต่าง ๆ แล้วถึงจะตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย หลังจากนั้นทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาจะร่วมประชุมกับผู้ป่วย เพื่อค้นหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด

โดยก่อนการรักษาจริง แพทย์จะจำลองการฉายรังสีด้วยการสร้างภาพถ่ายจากซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan) เพื่อกำหนดจุดฉายรังสีและวางขอบเขตการฉายรังสีให้ตรงกันทุกครั้ง รวมถึงเลือกชนิดและปริมาณของรังสีให้เหมาะกับโรคและสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องทำเหมือนอยู่ในการฉายรังสีจริงทุกขั้นตอน โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือในการติดลวดเพื่อกำหนดขอบเขตการฉายรังสี และยึดร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่ในตำแหน่งเดิมด้วยอุปกรณ์อย่างที่วางศีรษะหรือที่วางแขน เพื่อให้การฉายรังสีในทุกครั้งนั้นมีความแม่นยำมากที่สุด


โดยขั้นตอนการฉายรังสีทั้ง 2 ประเภทจะมีรายละเอียด ดังนี้


การฉายรังสีระยะไกล

หลังการเตรียมพร้อมเสร็จสิ้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ บนเตียงโดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดตำแหน่งท่าทางให้เหมาะสม จากนั้นจะใช้เครื่องฉายรังสีไปยังจุดที่กำหนดไว้ประมาณ 10–30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาจปรับจำนวนครั้งหรือจำนวนวันในแต่ละสัปดาห์ตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนใหญ่มักใช้เวลารักษาต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ เพื่อให้เซลล์ปกติฟื้นฟูตัวเองในระหว่างการรักษา หากรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวในระหว่างการฉายรังสีสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที


การฉายรังสีระยะใกล้

แพทย์จะให้ผู้ป่วยดมยาสลบหรือฉีดยาชาก่อนจะฝังวัสดุกัมมันตรังสีปริมาณสูงให้อยู่ใกล้จุดที่มีก้อนมะเร็งชั่วคราวในตัวผู้ป่วย แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10–20 นาที โดยอาจทำวันละ 1–2 ครั้ง และเว้นระยะห่าง 2–3 วัน หรือทำวันละ 1 ครั้ง และเว้นระยะห่าง 2-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องฝังวัสดุกัมมันตรังสีขนาดเล็กที่มีปริมาณต่ำไว้ในร่างกายอย่างถาวร ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องพักที่โรงพยาบาลจนกว่าจะนำวัสดุดังกล่าวออกจากร่างกายเพราะอาจเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างได้

ปกติแล้ว การฉายรังสีประเภทต่าง ๆ มักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด หากรู้สึกเจ็บหรือมีความผิดปกติอื่นใดควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที และการตอบสนองต่อการรักษาในผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางรายอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่บางรายอาจรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผลเลย


การดูแลตัวเองในระหว่างการฉายรังสี

ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรดูแลร่างกายของตนเองให้แข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน หรือสมุนไพรที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ทั้งหมด
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ หรืองีบหลับระหว่างวันหากรู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการฉายรังสี
    ดื่มน้ำให้มาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้พลังงานในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ ปลา เป็นต้น
    ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินในระยะทางสั้น ๆ การทำกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงมากนัก เป็นต้น
    ไม่ขัด ถูหรือเกาผิวหนังที่ผ่านการฉายรังสี หรือสวมเสื้อผ้าคับแน่นในบริเวณดังกล่าว
    ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสีด้วยน้ำอุ่นและสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือบำรุงผิวหนังโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
    ปกป้องผิวหนังบริเวณที่ถูกฉายรังสีจากแสงแดดด้วยการสวมเสื้อผ้าหรือหมวกเป็นประจำ


ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการฉายรังสีมักเกิดอาการอ่อนเพลีย ผมร่วง และมีปัญหาผิวหนัง อย่างการระคายเคือง อาการบวมแดง หรือสีผิวคล้ำขึ้น แต่ในบางรายอาจไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นเลย ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ มักจะควบคุมอาการได้และหายไปเมื่อสิ้นสุดการรักษา โดยผลข้างเคียงนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกฉายรังสีและปริมาณของรังสีที่นำมาใช้ เช่น

    บริเวณช่องปากและลำคออาจแสดงอาการ เช่น ปากแห้ง น้ำลายเหนียว มีปัญหาในการกลืน เจ็บปากหรือคอ แผลในปาก ปากเหม็น ฟันผุ การรับรู้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป คลื่นไส้ เป็นต้น
    บริเวณหน้าอกอาจแสดงอาการ เช่น หลอดอาหารเกิดการระคายเคือง มีปัญหาในการกลืน ไอ หายใจลำบาก เป็นต้น
    บริเวณท้องอาจแสดงอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
    บริเวณกระดูกเชิงกรานอาจแสดงอาการ เช่น ท้องเสีย กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคือง ปัสสาวะบ่อย มีความต้องการทางเพศลดลง มีบุตรยาก ในเพศชายอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือเจ็บขณะหลั่งน้ำอสุจิ ส่วนในเพศหญิงอาจมีอาการช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดแคบ หรือขาดประจำเดือน เป็นต้น

นอกจากนี้ การฉายรังสียังส่งผลให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายลดน้อยลงแต่มักพบได้น้อย ซึ่งอาจจำเป็นหยุดการรักษาจนกว่าจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวจะกลับสู่ระดับปกติ และระบบน้ำเหลืองถูกทำลายจนอาจก่อให้เกิดภาวะบวมน้ำเหลือง 

อย่างไรก็ตาม รังสีรักษาอาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ หลังการรักษาได้ แต่ในปัจจุบันก็ยังนิยมนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น หากผู้ป่วยเป็นกังวลด้านความปลอดภัยของตนเอง รวมถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังของการฉายรังสีสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลได้โดยตรง

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google