ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer)  (อ่าน 104 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 321
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer)

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบประมาณร้อยละ 3 ของมะเร็งทั้งหมด พบเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งในผู้ชาย รองจากมะเร็งต่อมลูกหมาก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า พบมากในช่วงอายุ 50-70 ปี พบได้น้อยในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
 

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การสูบบุหรี่ (ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ)
    การทำงานเกี่ยวกับสีย้อมผ้า สีย้อมไม้ หรือสีย้อมหนัง อุตสาหกรรมด้านเสื้อผ้า ยาง สายไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารเคมีบางชนิด เช่น อะนิลีน (aniline) สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น
    กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังจากก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือจากการคาสายสวนปัสสาวะนาน ๆ
    การดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปน
    การได้รับรังสีรักษาในบริเวณช่องท้องมาก่อน หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide)
    การมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้หรือมะเร็งชนิดอื่น (เช่น มะเร็งเต้านม มดลูก รังไข่ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงน้ำดี ไต กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่าปกติ

อาการ

ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือด โดยไม่มีอาการเจ็บปวด บางรายอาจมีเพียงอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัดเนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะ

ในระยะลุกลาม มักมีอาการปวดท้องน้อย คลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ซีด ท่อไตอุดตันจนกลายเป็นไตวาย การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ


ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น (ปวดท้องน้อย ถ่ายลำบากหรือถ่ายไม่ออก) มีเลือดออก (ทำให้ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด โลหิตจาง)

มะเร็งมักลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง ไปที่อุ้งเชิงกรานและช่องท้อง (ทำให้ปวดกระดูกเชิงกราน ปวดท้อง ท้องมาน) และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ) และอาจไปที่สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก)


การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจำนวนมาก และเซลล์มะเร็งในปัสสาวะ หากสงสัยก็จะใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด (อาจหายขาดได้ถ้าเป็นระยะแรกที่มีเพียงรอยแผลตื้น ๆ)

ส่วนในระยะลุกลาม จะรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีบำบัด เคมีบำบัด และ/หรือฮอร์โมนบำบัด

ผลการรักษา โดยเฉลี่ยค่อนข้างดี ถ้าเป็นระยะแรกมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีมากกว่าร้อยละ 80 แต่ถ้าเป็นระยะท้าย (มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น) มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีต่ำกว่าร้อยละ 20


การดูแลตนเอง

หากสงสัย มีอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด, ปัสสาวะเป็นเลือด, มีอาการปัสสาวะบ่อยหรือแสบขัด, ปวดท้องน้อยและคลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    ไม่สูบบุหรี่
    กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    ดื่มน้ำมาก ๆ ทุกวัน
    ถ้าทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ควรปฏิบัติตามมาตรการลดการสัมผัสสารเคมีอย่างเคร่งครัด


ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google