โรคมะเร็งปอด ภัยเงียบคร่าชีวิต สาเหตุอาการ และการตรวจวินิจฉัยมะเร็งมะเร็งปอด หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่ค่อยมีอาการแสดงในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
มะเร็งปอดเกิดจากอะไร
มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่กระจายไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) : เซลล์เจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตรวดเร็ว ซึ่งพบได้ 10 – 15%
มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) : แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ โดยมะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 85 – 90%
ค้นหาระยะของมะเร็งปอด
ระยะของมะเร็งปอดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง โดยกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง เซลล์และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ซึ่งระยะของมะเร็งนั้นมีความสำคัญต่อการรักษา เพราะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษา และหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ
ระยะที่ 1 ระยะจำกัด (Limited Stage) พบเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด 1 ข้าง และต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวเท่านั้น
ระยะที่ 2 ระยะลุกลาม (Extensive Stage) เซลล์มะเร็งกระจายออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น หรือกระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่พบว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ในปอด ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยมักไม่มีการแสดงความผิดปกติออกมา
ระยะที่ 2 พบมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด โดยในระยะที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกาย
ระยะที่ 3 พบมะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่นๆ หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่กลางช่องอก หรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้นๆ
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งกระจายตัวไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด
การสูบบุหรี่ – ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากถึง 10 เท่า ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ควันบุหรี่มือสอง – แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม จากกาสูดหายใจเข้าไปจะทำให้มีสารพิษตกค้างซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง
การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง – การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม ไรแย่หิน แร่เรดอน นิกเกิล เป็นต้น
สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ – จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความร้อยแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
พันธุกรรม – แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่พบว่า หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อยๆ สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วมักมีอาการแสดง ที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด
หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
เจ็บหน้าอกตลอดเวลา
เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
ปอดติดเชื้อบ่อย
เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
มะเร็งปอดไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่สามารถส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจไม่เกี่ยวเนื่องกับมะเร็งได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว โดยหากมีอาการที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อเป็นการยืนยันด้วยวิธีต่างๆ เช่น การเอกซเรย์ปอด (X-ray), การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), การส่องกล้องลอดลมปอด (Bronchoscopy), การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ (Biopsy), การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose CT chest), การส่องกล้องในช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy) เป็นต้น
คุณกำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่หรือไม่?!
สูบบุหรี่จัด มีอายุ 50 ปีขึ้นไป, เลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังหยุดสูบไม่ถึง 15 ปี, คนในครอบครัวสูบบุหรี่, มีโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสอง, ทำงานใกล้ชิดกับสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง, สัมผัสฝุ่นควันหรือมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน, มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งปอด
หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ