ปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่หญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวัง คือ โรคหัวใจ เพราะคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วย่อมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากโรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งคุณแม่ที่มีสุขภาพดีทั่วไปก็อาจได้รับผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนพร้อมคลอด ดังนั้น คุณแม่ทั้งหลายจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ รวมทั้งเรียนรู้วิธีป้องกันและดูแลตนเองด้วย เพื่อความปลอดภัยในการตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์กับโรคหัวใจเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
เมื่อตั้งครรภ์ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารก โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือดที่จะทำงานหนักขึ้นเพื่อขนส่งออกซิเจนและสารอาหารที่สำคัญไปให้ทารกได้อย่างเพียงพอ โดยความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
- ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะผลิตเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์
- ปริมาตรของเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น หัวใจของคุณแม่ก็จะสูบฉีดเลือดต่อนาทีมากขึ้นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแม่และทารกในครรภ์ได้อย่างเพียงพอ
- อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วคนท้องจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น 10-15 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากหัวใจมีการสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
- ความดันโลหิตลดต่ำ แม้อัตราการเต้นของหัวใจคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจมีภาวะความดันโลหิตลดลงได้ โดยคนท้องมักมีความดันโลหิตลดต่ำลงประมาณ 10 มิลลิเมตรปรอท เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและร่างกายปรับตัวให้มีเลือดไหลเวียนไปที่มดลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภาวะปกติและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
นอกจากนี้ การคลอดลูกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เนื่องจากการออกแรงเบ่งคลอดจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและความดันโลหิต ซึ่งหลังคลอดอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าหัวใจและหลอดเลือดของคุณแม่จะกลับมาทำงานเป็นปกติ และในบางรายก็อาจกลายเป็นปัญหาอย่างถาวรที่ต้องได้รับการรักษาต่อไป
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจในขณะตั้งครรภ์ ?
โดยทั่วไป สตรีมีครรภ์มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขณะตั้งครรภ์ได้ แต่จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้
ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก หรือเคยตั้งครรภ์แฝดมาก่อน
สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจก่อนวัยอันควร
เคยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจพิการแต่กำเนิด
เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง
ใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
ตั้งครรภ์กับโรคหัวใจ อันตรายที่คนท้องควรระวัง อ่านบบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/