ผู้เขียน หัวข้อ: สุขภาพดีอย่างเบาใจ ห่างไกล “โรคเบาหวาน”  (อ่าน 26 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 332
    • ดูรายละเอียด
สุขภาพดีอย่างเบาใจ ห่างไกล “โรคเบาหวาน”

โรคเบาหวาน อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการอะไรบ่งบอกใดๆ และจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตตนเอง เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี มาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานกันเถอะ!

โรคเบาหวานคืออะไร
  โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากร่างกายมีความผิดปกติในกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน โดยกระบวนการนี้มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอินซูลินและตับอ่อน เมื่อกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ไม่ดี ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับปกติ เกิดเป็นโรคเบาหวาน

“อินซูลิน” เกี่ยวข้องกับ “โรคเบาหวาน” อย่างไร
   อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง โดยสร้างและหลั่งออกมาจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญและใช้เป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต หากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ เป็นเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดเป็น “โรคเบาหวาน” นอกจากนี้การขาดอินซูลินยังทำให้เกิดความผิดปกติในด้านอื่นๆด้วย เช่น มีการสลายตัวของสารไขมันและโปรตีนในร่างกายที่ผิดปกติ


ชนิดของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค

    โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก
    โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T1DM) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน พบมากในวัยผู้ใหญ่ มักมากับโรคร่วมอื่นๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน
    โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2 - 3 ของการตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป แต่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้
    โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น

   เบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารประเภทแป้ง ของหวานมากเกินไป ภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง การขยับร่างกายที่น้อยลง ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น เบาหวานชนิดนี้ มักเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่น อายุ 20 - 30 ปี ซึ่งสัมพัทธ์กับการรับประทานอาหารที่เป็นแป้ง ของหวาน หรือการออกกำลังกายที่ลดลง และ โรคอ้วน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่อายุยังน้อย มีโอกาสจะควบคุมอาการโรคได้ยากกว่า เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า และมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในช่วงอายุที่น้อยกว่า ดังนั้น การควบคุมเบาหวานให้อยู่ในระดับที่ปกติ จึงมีความสำคัญอย่างมากรวมถึงการค้นหาโรคเบาหวานในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันและการรักษาโรคเบาหวานได้อย่างทันท่วงที จะส่งผลให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานระยะยาวได้

ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้บ้าง

    ทุกคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
    ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน (BMI > 25 กก./ม.2 และ/หรือ มีรอบเอวเกินมาตรฐาน) ร่วมกับ มีพ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เป็นโรคเบาหวาน
    เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตอยู่
    เป็นโรคไขมันในเลือดสูง (ระดับไตรกลีเซอไรด์ > 250 มก./ดล.และ/หรือ HDL< 35 มก./ดล.) หรือได้รับยาลดไขมันในเลือดอยู่
    มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (หรือเคยคลอดบุตรที่น้ำหนักตัวแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม) มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
    มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
    เคยได้รับการตรวจระดับน้ำตาลผิดปกติ เป็นเกณฑ์เสี่ยงเบาหวาน
    ผู้หญิงที่มีโรคถุงน้ำในรังไข่


บุคคลเหล่านี้ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นประจำทุกปี
 
โรคเบาหวานมีอาการอย่างไร
   อาการหลักๆ ที่เป็นสัญญาณว่าคนๆ นั้นจะมีความเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมีปริมาณมากและบ่อย รวมถึงอาการต่างๆ เหล่านี้ อาทิ

    เหนื่อย อ่อนเพลีย
    มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้า หรือที่เท้า
    น้ำหนักลดผิดปกติ โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้
    เมื่อเกิดบาดแผลที่บริเวณต่างๆ ของร่างกายมักหายช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะแผลที่เกิดกับบริเวณเท้า
    สายตาพร่ามัว

 
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยเบาหวาน สามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 วิธี ดังต่อไปนี้

    มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ร่วมกับตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร มีค่า ≥200 มก./ดล.
    ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8ชั่วโมง) ≥ 126 มก./ดล.
    การตรวจความทนต่อกลูโคส โดยให้รับประทานกลูโคส 75 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ 2 ชั่วโมง ถ้ามีค่า ≥ 200 มก./ดล.
    การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) ≥5% โดยวิธีการตรวจและห้องปฏิบัติการต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งยังมีน้อยในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้

 
การป้องกันโรคเบาหวาน

   ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสามารถป้องกันได้ การนำผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด จนมีน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างน้อย 7 - 10% ของน้ำหนักตัวเดิม สามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
   การดูแลตนเองเพื่อป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ สามารถเริ่มได้จากการสำรวจความเสี่ยงของตนเองก่อนว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หากตรวจพบจะได้สามารถเริ่มทำการรักษาได้โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อน และสำหรับผู้ที่ยังไม่ตรวจพบแต่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็จะได้วางแผนป้องกันด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้ตนเองเข้าข่ายโรคเบาหวานให้มากที่สุด
 

การรักษาโรคเบาหวาน
   
การรักษาโรคเบาหวาน เป็นการรักษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ และ ที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยต้องตระหนักถึงความสำคัญของการรักษา โดยต้องเข้าใจก่อนว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงปกติที่สุดได้ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงทำงานประจำได้ตามปกติหากแต่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการควบคุมอาหาร  ออกกำลังกาย และใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มาก
 

    การควบคุมอาหาร : การรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีการควบคุมอาหารมีความสำคัญมากในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และถือเป็นการรักษาหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรเข้าใจและปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้อย่างไม่จำกัดจำนวนได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ขาว เป็นต้น อาหารบางชนิดที่สามารถรับประทานได้ในปริมาณจำกัด เช่น ผลไม้ แนะนำให้รับประทานผลไม้ชนิดหวานน้อย เช่นฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร เป็นต้น
    การออกกำลังกาย : สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานการออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคเบาหวานที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้อินซูลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำว่าควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิค เช่น วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายชนิดต้านน้ำหนัก เช่น การยกเวท เป็นเวลาอย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน 2 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรนั่งอยู่เฉยๆ หรือนอนเล่นพักผ่อนเกิน 90 นาที หากเกินควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบท
    การใช้ยา : การรักษาโรคเบาหวานโดยการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของโรคเบาหวาน เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 ควรรักษาโดยการฉีดอินซูลินเท่านั้น ส่วนในเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน โอกาสการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ ของผู้ป่วยเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกใช้ยา

 
หากเป็นเบาหวานระยะแรกๆ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้ดี ออกกำลังกายคุมอาหารได้ดี การรักษาก็จะง่าย ในระยะยาวก็จะไม่เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ เบาหวานขึ้นตา ไตวาย เส้นประสาทปลายเท้าเสื่อม หากเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว ควรเข้ารับการรักษาและดูแลตนเองให้ดีเป็นพิเศษ ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ต้องติดตามและรักษากันไปตลอดชีวิต การวินัยในการรักษาและความร่วมมือของผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google