ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ฝีเต้านม (Breast abscess)  (อ่าน 982 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 363
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ฝีเต้านม (Breast abscess)
« เมื่อ: 15 ตุลาคม 2024, 15:19:56 pm »
หมอออนไลน์: ฝีเต้านม (Breast abscess)

ฝีเต้านม เป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราวในผู้หญิงที่ให้นมบุตรในระยะเดือนแรก ๆ

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย ได้แก่ สแตฟีโลค็อกคัสออเรียส ซึ่งจะเข้าไปในเต้านมโดยผ่านทางหัวนมที่ปริหรือแตก ทำให้เกิดเต้านมอักเสบ (mastitis) แล้วไม่ได้รักษาก็จะกลายเป็นฝีเต้านม

การมีนมคัดหรือมีน้ำค้างอุดอยู่ในท่อน้ำนม เนื่องจากทารกดูดไม่หมด เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้ออักเสบได้ง่าย


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เต้านมจะมีลักษณะบวมแดงร้อนและปวดมาก และต่อมน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ข้างเดียวกับเต้านมข้างที่เป็นฝีจะโตและเจ็บร่วมด้วย ถ้าหากปล่อยไว้บางครั้งฝีอาจแตกและมีหนองไหล


ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้องตั้งแต่แรก อาจทำให้เชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือดกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบรอยโรคที่เข้าลักษณะของฝีเต้านม (ตรวจพบไข้ และเต้านมมีลักษณะบวมแดงร้อนและกดเจ็บ)

หากไม่แน่ใจแพทย์จะทำการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ และอาจนำน้ำนมหรือหนองไปตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการเจาะดูดหนองหรือผ่าระบายหนองออก และให้ยาปฏิชีวนะ

หากมีไข้สูง หรือมีอาการรุนแรง แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ทำการผ่าระบายหนอง และให้ยาปฏิชีวนะ (ซึ่งในช่วงแรกจะให้ทางหลอดเลือดดำ) ให้น้ำเกลือ และให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้แก้ปวด)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดเต้านมมาก และเต้านมมีลักษณะบวมแดงร้อน คลำได้ก้อนฝีที่เต้านม ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝีเต้านม ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    หลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้าน มีอาการไข้กำเริบใหม่ เต้านมข้างที่เป็นฝีมีอาการปวดมากขึ้นหรือบวมแดงร้อนมากขึ้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. ป้องกันไม่ให้เต้านมอักเสบ โดยปฏิบัติตัว ดังนี้

    หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ และรักษาความสะอาดหัวนมก่อนและหลังให้ทารกดูดนม
    ป้อนนมลูกเป็นเวลาบ่อย ๆ
    ให้ทารกดูดนมทั้ง 2 ข้างพอ ๆ กัน โดยดูดนมให้หมดข้างหนึ่งก่อนค่อยสลับข้าง หากไม่หมดควรใช้นิ้วรีดนมหรือใช้อุปกรณ์ปั๊มนมออกให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้นมคัดหรือมีนมค้างอุดอยู่ในท่อน้ำนม
    หมั่นเปลี่ยนท่าการให้นมแต่ละครั้ง และจัดท่าให้ทารกดูดนมได้ถนัด
    หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าและเสื้อชั้นในที่คับหรือบีบรัดเกินไป

2. ถ้าสงสัยเต้านมอักเสบ หรือเต้านมมีอาการปวด บวม แดงร้อน ควรรีบไปพบแพทย์ตรวจรักษา หากปล่อยไว้อาจทำให้เป็นฝีเต้านมแทรกซ้อนได้

ข้อแนะนำ

เมื่อมีก้อนที่เต้านม หากเกิดจากการอักเสบเป็นฝี มักมีอาการไข้ หนาวสั่น และก้อนเต้านมจะมีลักษณะะปวดมาก และออกแดงร้อน กดถูกเจ็บ

แต่ถ้ามีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ไม่มีอาการปวดแดงร้อน กดถูกไม่เจ็บ มักจะเป็นก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งเต้านม

อย่างไรก็ตาม หากคลำได้ก้อนที่เต้านม ไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google