ผู้เขียน หัวข้อ: โรคความดันโลหิตสูงอย่าปล่อยไว้ อันตรายกว่าที่คิด  (อ่าน 174 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 331
    • ดูรายละเอียด
โรคความดันโลหิตสูงอย่าปล่อยไว้ อันตรายกว่าที่คิด

ความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เป็นโรคสำคัญที่ควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายระยะสุดท้าย พื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญในการควบคุมความดันโลหิต ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเอง และการรักษาโดยการรับประทานยา ซึ่งจะช่วยให้ความดันโลหิตกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม ลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

 
ความดันโลหิตสูงมีกี่ชนิด

ความดันโลหิตสูง สามารถจำแนกตามสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.    ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (primary or essential hypertension) พบได้ประมาณ 95% ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการร่วมแห่งชาติด้านการประเมินและรักษาโรคความดันโลหิตสูงของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน การมีไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด อายุที่มากขึ้น และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

2.    ความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ (secondary hypertension) พบได้น้อย คือประมาณ 5-10% ส่วนใหญ่เกิดจากการมีพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยจะส่งผลให้เกิดแรงดันเลือดสูง ส่วนใหญ่อาจเกิดจากพยาธิสภาพที่ไต ต่อมหมวกไต โรคหรือความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติของฮอร์โมน โรคของต่อมไร้ท่อ โรคครรภ์เป็นพิษ การบาดเจ็บของศีรษะ การใช้ยาและการถูกสารเคมี เป็นต้น


ทั้งนี้เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเกิดจากสาเหตุใด การรักษาที่สาเหตุก็จะทำให้ระดับความดันโลหิตจะลดลงเป็นปกติได้

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

อาการของโรคความดันโลหิตสูง ปรากฏได้หลายอย่าง ดังนี้

    ปวดศีรษะ
    เวียนศีรษะ (dizziness) มักพบว่าเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ
    เลือดกำเดาไหล (epistaxis)
    เหนื่อยหอบขณะทำงาน หรือมีอาการเหนื่อยหอบจนนอนราบไม่ได้ แสดงถึงการมีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว
    อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกสัมพันธ์กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการมีเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากจากภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นมานานๆ

 
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง

เมื่อมีความดันโลหิตสูง มักเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น

    หัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ มีอาการขาบวม
    ไต อาจเป็นโรคไตเรื้อรัง มีอาการขาบวม ซีด ผิวแห้ง
    สมอง อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่แสดงออก คือ มีอาการปากเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หรืออาจมีภาวะสมองเสื่อม
    ตา อาจเกิดความผิดปกติที่จอประสาทตา

 
ความดันโลหิตสูงต้องระวัง และควรพบแพทย์

ผู้ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงก่อนออกกำลังกาย

    มีค่าความดันโลหิต SBP ≥ 180 มม.ปรอท หรือ DBP ≥ 110 มม.ปรอท
    มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงเล็กน้อยหรือขณะพัก
    มีความเสี่ยง หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว
    มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    มีโรคเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
    มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่นๆ
    เป็นผู้สูงอายุ
    มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่จัด


 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google