ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง (Severe eye injury)  (อ่าน 307 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 378
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง (Severe eye injury)

การบาดเจ็บที่เกิดกับดวงตาอาจมีความรุนแรงมากน้อยต่าง ๆ กันไป หากมีความรุนแรงนอกจากเกิดบาดแผลที่เป็นอันตรายต่อดวงตาโดยตรงแล้ว ยังอาจมีผลแทรกซ้อนตามมาได้อีกด้วย เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอตาลอก เป็นต้น

สาเหตุ

เกิดจากบาดเจ็บที่ตา เช่น ถูกต่อย ถูกตี ถูกหนังสติ๊กยิง รถชน ถูกยิง ถูกแทง เป็นต้น

อาการ

ถ้าไม่รุนแรง อาจมีเพียงรอยฟกช้ำที่ขอบตา หรือมีเลือดออกใต้ตาขาว ซึ่งมักจะไม่มีอาการปวดตา หรือตามัวแต่อย่างใด

แต่ถ้าได้รับบาดเจ็บรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการตามืดมัวลงฉับพลัน หรือปวดตารุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากมีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า (anterior chamber) เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา (vitreous hemorrhage) เลือดออกในจอตา จอตาหรือม่านตาฉีกขาด แก้วตาเคลื่อน แผลกระจกตา เป็นต้น

ถ้ากระจกตาหรือตาขาวทะลุ จะมีของเหลวไหลออกจากลูกตา ถ้าเป็นมากอาจมีเนื้อเยื่อภายในลูกตาออกมาจุกที่แผล พวกนี้มักเกิดจากถูกมีดหรือของมีคมแทง หรือเกิดจากแรงระเบิดจากถังแก๊ส หรือขวดน้ำอัดลม

ตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าได้รับการกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นจอตาลอก ต้อหิน ต้อกระจก หรือสูญเสียลูกตา

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบสิ่งผิดปกติ เช่น รอยฟกช้ำที่ขอบตาหรือมีเลือดออกใต้ตาขาว ภาวะเลือดออกในช่องลูกตาหน้า (ใช้ไฟส่องจะเห็นบริเวณหลังกระจกตามีลักษณะขุ่น หรือมีตะกอนเม็ดเลือดแดงลอยอยู่ในน้ำเลี้ยงลูกตาในช่องลูกตาหน้า) มีของเหลวไหลออกจากลูกตา (กระจกตาหรือตาขาวทะลุ) เป็นต้น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในลูกตาด้วยเครื่องมือ (เช่น slit-lamp) ส่องตรวจดูภายในลูกตา และอาจทำการตรวจพิเศษ (เช่น เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าพบว่ามีของเหลวไหลออกจากลูกตา ซึ่งสงสัยว่ากระจกตาหรือตาขาวทะลุ แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล ถ้ารูไม่ใหญ่และยังไม่มีการติดเชื้อ (ได้รับบาดเจ็บนานไม่เกิน 6 ชั่วโมง) ก็อาจทำการเย็บซ่อมแซม หรือลักษณะบาดแผลยังมีทางแก้ไขให้สามารถมองเห็นได้ ก็จะทำการซ่อมแซมดวงตาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

แต่ถ้าเห็นว่าดวงตามีความเสียหายรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขให้มองเห็นได้ ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดควักลูกตาออก หรืออาจต้องให้ยากดภูมิคุ้มกัน ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน โดยให้ผู้ป่วยกินในขนาดสูง เพื่อป้องกันการอักเสบของผนังลูกตาชั้นกลาง (uveitis) ของตาข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บอีกข้างตามมา ซึ่งเรียกว่า ตาอักเสบรุนแรงแบบเป็นร่วม (sympathetic ophthalmia)* ทำให้อาจต้องสูญเสียตา 2 ข้าง

2. ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง หรือตามืดมัวลงทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ ตรวจพบมีแผลกระจกตา แพทย์จะให้การรักษาตามอาการและให้ยาปฏิชีวนะตามความจำเป็น อาจจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะทุเลา

3. ในรายที่มีเลือดออกในช่องลูกตาหน้า ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว เวลาใช้ไฟส่องจะเห็นบริเวณหลังกระจกตามีลักษณะขุ่น หรือมีตะกอนเม็ดเลือดแดงลอยอยู่ในน้ำเลี้ยงลูกตาในช่องลูกตาหน้า อาการเลือดออกอาจเกิดขึ้นทันที หรือหลังได้รับแรงกระแทก 2-5 วันก็ได้ อาการดังกล่าวเรียกว่า "Hyphema"

ถ้ามีเลือดออกมาก ควรให้นอนพักในโรงพยาบาล ทำการปิดตา ให้นอนพักบนเตียงเป็นเวลา 6-7 วัน เพื่อรอให้เลือดค่อย ๆ ดูดซึมออกไป

ถ้ามีอาการปวดตามาก หรือความดันลูกตาสูง แพทย์จะให้ยาลดความดันลูกตา (เช่น อะเซตาโซลาไมด์) เพื่อป้องกันมิให้กลายเป็นต้อหิน ถ้าจำเป็นอาจต้องผ่าตัด

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เป็นต้อหินตามมาได้

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ถ้ารุนแรงมากอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้สายตาพิการ หรือสูญเสียดวงตา ถ้ารุนแรงปานกลาง (เช่น แผลกระจกตา เลือดออกในช่องลูกตาหน้า) หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็มักจะหายเป็นปกติหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

*ภาวะตาอักเสบรุนแรงแบบเป็นร่วม พบในผู้ที่เกิดบาดแผลทะลุของลูกตา (penetrating eye wound) ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดของแพทย์ก็ได้ เชื่อว่าตาข้างที่เกิดบาดแผลจะมีการปล่อยสารบางชนิดออกมากระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน ซึ่งจะไปก่อปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองต่อตาข้างที่ดี ทำให้เกิดการอักเสบทั่วผนังลูกตาชั้นกลาง รวมทั้งม่านตา (เรียกว่า panuveitis) ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น จานประสาทตาบวม (papilledema) หรือต้อหิน ทำให้สายตาพิการได้ ภาวะนี้พบได้ประมาณร้อยละ 0.2-0.5 ของผู้ที่มีบาดแผลทะลุของลูกตา (บ้างก็รายงานว่าพบน้อยกว่านี้มาก) ส่วนใหญ่มักเกิดหลังบาดเจ็บ 2-12 สัปดาห์ บางรายอาจเกิดหลังบาดเจ็บหลายปี

ภาวะตาอักเสบรุนแรงแบบเป็นร่วม สามารถป้องกันได้โดยการควักลูกตาข้างที่บาดเจ็บออก ซึ่งควรทำภายใน 2 สัปดาห์หลังบาดเจ็บ แต่ในแง่ปฏิบัติ แพทย์อาจลองรักษาตาข้างที่บาดเจ็บและรอดูอาการไปก่อน ขณะเดียวกันก็จะให้ยาสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ (เช่น ไซโคลสปอรีน) เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองต่อตาข้างที่ดี

ส่วนในกรณีที่เกิดภาวะนี้ขึ้นมาแล้ว การให้ยากดภูมิคุ้มกันรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้


การดูแลตนเอง

หากตาได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลที่ตา หรือไม่มีบาดแผลแต่มีอาการปวดตา เคืองตา ตาพร่ามัว ควรรีบปรึกษาแพทย์ ดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ

หากได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย มีรอยห้อเลือดที่ตาขาว ไม่มีอาการปวดตา และมองเห็นได้ชัดตามปกติ ก็ให้การดูแลแบบ "โรคเลือดออกใต้ตาขาว"

การป้องกัน

ระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่กระทบต่อดวงตา

เวลาทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อดวงตา (ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดต้อหินได้) ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันตา

ข้อแนะนำ

หากได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนต่อดวงตา ถึงแม้ไม่มีบาดแผลภายนอก ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคตาแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในช่องลูกตาหน้า แก้วตาเคลื่อน จอตาลอก ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น ก็ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการปวดตา ตาพร่ามัว ซึ่งเกิดหลังได้รับบาดเจ็บทันที หรือเกิดตามมาในภายหลัง ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google